โรงเรียนราชวินิตบางเขน กรมสามัญศึกษา ตั้งอยู่ที่เลขที่ 22/18 หมู่บ้านชินเขต ซอย1/22  แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
  เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา เดิมเป็นที่ดินของคุณย่าผัน คำจงจิตร สภาพเดิมเป็นที่ลุ่ม มีแอ่งน้ำ ต้นกกและหญ้าปล้องขึ้นเต็มบริเวณพื้นที่
  คุณย่าผัน คำจงจิตร ได้มอบที่ดินแปลงนี้ให้แก่วัดทองสุทธาราม แขวงบางซื่อ ปีพุทธศักราช 2528 พระครูสุวรรณสุทธารมย์ เจ้าอาวาสวัดทองสุทธาราม
  คณะกรรมการวัดทองสุทธาราม และนายสุรินทร์ ต่อเนื่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนสุวรรณสุทธารามวิทยา (ในขณะนั้น) เห็นว่าโรงเรียนสุวรรณสุทธารามวิทยา
  ซึ่งก่อสร้างอยู่ในที่ดินของวัดทองสุทธารามได้รับนักเรียนเข้าเรียนตามเป้าหมายและนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นจำนวนมากในแขวงบางซื่อ
  ท่าทราย ทุ่งสองห้อง และอำเภอเมืองนนทบุรี ยังไม่มีโรงเรียนใกล้บ้านต้องเดินทางไปเรียนต่อยังโรงเรียนที่อยู่ไกลๆ ด้วยเจตนารมณ์และศรัทธา
  ของท่านพระครูสุวรรณสุทธารมย์ในการที่จะให้การสนับสนุนการศึกษาของชาติและให้เยาวชนไทยทุกฐานะได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษาให้มากขึ้น
   
 
พระครูสุวรรณสุทธารมย์
คุณย่าผัน คำจงจิตร
   
    วัดทองสุทธาราม โดยพระครูสุวรรณสุทธารมย์ คณะกรรมการวัดทองสุทธาราม ได้ทำหนังสืออนุญาตให้กรมสามัญศึกษาใช้ที่ดินแปลงนี้
  สร้างโรงเรียนมัธยมศึกษา เดือนมิถุนายน 2529 อธิบดีกรมสามัญศึกษา โดยดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง และเจ้าหน้าที่กรมสามัญศึกษา
  นายสุรินทร์ ต่อเนื่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสุวรรณ สุทธารามวิทยา ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงเรียน โดยในวันที่ 14 สิงหาคม 2529
  กรมสามัญศึกษาได้ตอบรับการใช้ที่ดินแปลงนี้ก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษา ปีการศึกษา 2530 กรมสามัญศึกษาได้เปิดโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร
  จำนวน 1 โรง ชื่อ “โรงเรียนบางเขนวิทยา” โดยเช่าพื้นที่นี้กับกรมการศาสนาเป็นเวลา 30 ปี และสิ้นสุดตามสัญญาเช่าในวันที่ 22 กรกฎาคม 2531
   
 
ภาพบรรยากาศของโรงเรียนในช่วงแรก
 
    วันที่ 16 เมษายน 2530 กรมสามัญศึกษาได้มอบหมายให้โรงเรียนวัดทองสุทธารามวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนพี่ เป็นผู้รับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
  เข้าเรียนในโรงเรียนบางเขนวิทยา จำนวน 4 ห้องเรียน มีนักเรียนจำนวน 200 คน โดยมี นายสุรินทร์ ต่อเนื่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนสุวรรณสุทธารามวิทยา
  เป็นผู้ดูแลการจัดตั้งโรงเรียนบางเขนวิทยาและปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารเป็นการชั่วคราว ปีการศึกษา 2531 กรมสามัญศึกษาได้อนุมัติให้โรงเรียนบางเขนวิทยา
  รับนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 6 ห้องเรียน นักเรียนจำนวน 300 คน โดยใช้อาคารเรียนที่โรงเรียนสุวรรณสุทธารามวิทยา และในวันที่
  1 มิถุนายน 2531 นายวินัย นุ่นพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนสุวรรณสุทธารามวิทยา ได้รับคำสั่งให้รักษาการในตำแหน่ง “ครูใหญ่โรงเรียนบางเขนวิทยา”
   
 
ภาพบรรยากาศการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในช่วงแรก
 
    วันที่ 20 กรกฎาคม 2531นายวินัย นุ่นพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนสุวรรณสุทธารามวิทยา รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบางเขนวิทยา
  ได้รับมอบอำนาจเป็นผู้แทนกรมสามัญศึกษาลงนามในหนังสือกรรมสิทธิ์การใช่ที่ดินแปลงนี้สร้างโรงเรียน เมื่อดำเนินการในเรื่องที่ดินเรียนร้อยแล้ว
  โรงเรียนบางเขนวิทยาได้ดำเนินการจัดทำโครงการ “รวมน้ำใจสู่ บ.ว.” เพื่อระดมทุนทำห้องเรียนชั่วคราวของโรงเรียนบางเขนวิทยา โดยปรับปรุงพื้นที่
  ซ่อมแซมโรงเรียนที่บริษัทชินเขตมอบให้กับโรงเรียน โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนบางเขนวิทยา คณะกรรมการวัดทองสุทธาราม
  และผู้มีอุปการคุณในหมู่บ้านชินเขต
   
 
ภาพการก่อสร้างอาคารเรียนแรกของโรงเรียน
 
    วันที่ 16 สิงหาคม 2531 คณะครูอาจารย์และนักเรียนโรงเรียนบางเขนวิทยา ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่บริเวณที่จะทำอาคารชั่วคราว ซึ่งมีต้นกกสูงท่วมศีรษะ
  วันที่ 12 กันยายน 2531 เทพื้นที่ห้องอาคารเรียนชั่วคราวเสร็จเรียนร้อย ในวันที่ 28 กันยายน 2531 สำนักงบประมาณได้อนุมัติเงินงบประมาณ
  ก่อสร้างอาคารเรียนให้แก่โรงเรียนบางเขนวิทยา และวันที่ 11 ตุลาคม 2531 ได้ขนย้ายวัสดุอุปกรณ์จากโรงเรียนสุวรรณสุทธารามวิทยา
  มาสู่โรงเรียนบางเขนวิทยา และเปิดทำการเรียนการสอน ณ โรงเรียนบางเขนวิทยา
   
 
ภาพการก่อสร้างอาคารเรียนแรกของโรงเรียน
 
    วันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 โรงเรียนบางเขนวิทยาได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
  ให้ใช้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนราชวินิตบางเขน เพื่อเป็นไปตามพระราชดำริ ในการจัดตั้งโรงเรียน
   
 
ภาพการก่อสร้างอาคารเรียนที่สองและสามของโรงเรียน
     
    วันที่ 2 กรกฎาคม 2534 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการให้เปลี่ยนชื่อ โรงเรียนบางเขนวิทยาเป็น โรงเรียนราชวินิตบางเขน
  และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นตราสัญลักษณ์ของโรงเรียน
   
 
   
  ภาพตราสัญลักษณ์ของโรงเรียน  
     
ภาพบรรยากาศของโรงเรียนในปัจจุบัน